วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ประวัติบาสเกตบอล

ประวัติบาสเกตบอล



บาสเกตบอล ( Basketball ) เป็นกีฬาประจำชาติอเมริกัน ถูกคิดขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือบรรดาสมาชิก Y.M.C.A. ได้เล่นกีฬาในฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวสภาพพื้นภูมิประเทศโดยทั่วๆไป ถูกหิมะปกคลุม อันเป็นอุปสรรคในการเล่น
กีฬากลางแจ้ง เช่น อเมริกันฟุตบอล เบสบอล คณะกรรมการสมาคม Y.M.C.A. ได้พยายามหาหนทางแก้ไขให้บรรดาสมาชิกทั้งหลายได้เล่นกีฬาในช่วงฤดูหนาวโดย ไม่บังเกิดความเบื่อหน่าย

ในปี ค.ศ.1891 Dr.James A.Naismith ครูสอนพลศึกษาของ The International Y.M.C.A. Training School อยู่ที่เมือง Springfield รัฐ Massachusetts ได้รับมอบหมายจาก Dr.Gulick ให้เป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาในร่มที่เหมาะสมที่จะใช้เล่นในช่วงฤดูหนาว Dr.James ได้พยายามคิดค้นดัดแปลงการเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลและเบสบอลเข้าด้วยกันและ ให้มีการเล่นที่เป็นทีม

ในครั้งแรก Dr.James ได้ใช้ลูกฟุตบอลและตะกร้าเป็นอุปกรณ์สำหรับให้นักกีฬาเล่น เขาได้นำตะกร้าลูกพีชไปแขวนไว้ที่ฝาผนังของห้องพลศึกษา แล้วให้ผู้เล่นพยายามโยนลูกบอลลงในตะกร้านั้นให้ได้ โดยใช้เนื้อที่สนามสำหรับเล่นให้มีขนาดเล็กลงแบ่งผู้เล่นออกเป็นข้างละ 7 คน ผลการทดลองครั้งแรกผู้เล่นได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น แต่ขาดความเป็นระเบียบ มีการชนกัน ผลักกัน เตะกัน อันเป็นการเล่นที่รุนแรง

ใน การทดลองนั้น ต่อมา Dr.James ได้ตัดการเล่นที่รุนแรงออกไป และได้ทำการวางกติกาห้ามผู้เล่นเข้าปะทะถูกเนื้อต้องตัวกัน นับได้ว่าเป็นหลักเบื้องต้นของการเล่นบาสเกตบอล Dr.James จึงได้วางกติกาการเล่นบาสเกตบอลไว้เป็นหลักใหญ่ๆ 4 ข้อ ด้วยกัน คือ

1. ผู้เล่นที่ครอบครองลูกบอลอยู่นั้นจะต้องหยุดอยู่กับที่ห้ามเคลื่อนที่ไปไหน
2. ประตูจะต้องอยู่เหนือศีรษะของผู้เล่น และอยู่ขนานกับพื้น
3. ผู้เล่นสามารถครอบครองบอลไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยคู่ต่อสู้ไม่อาจเข้าไปถูกต้องตัวผู้เล่นที่ครอบครองบอลได้
4. ห้ามการเล่นที่รุนแรงต่างๆโดยเด็ดขาด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่กระทบกระแทกกัน

เมื่อ ได้วางกติกาการเล่นขึ้นมาแล้วก็ได้นำไปทดลอง และพยายามปรับปรุงแก้กไขระเบียบดีขึ้น เขาได้พยายามลดจำนวนผู้เล่นลงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน จนในที่สุดก็ได้กำหนดตัวผู้เล่นไว้ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดกับขนาดเนื้อที่สนาม

Dr.James ได้ทดลองการเล่นหลายครั้งหลายหน และพัฒนาการเล่นเรื่อยมา จนกระทั่งเขาได้เขียนกติกาการเล่นไว้เป็นจำนวน 13 ข้อ ด้วยกัน และเป็นต้นฉบับการเล่นที่ยังคงปรากฏอยู่บนกระดานเกียรติยศในโรงเรียนพลศึกษา ณ Springfield อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

กติกา 13 ข้อ ของ Dr.James มีดังนี้
1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
2. ผู้เล่นจะส่งบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
4. ผู้เล่นต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล ห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
5. ในการเล่นจะใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี หรือทำการใดๆให้ฝ่ายตรงข้ามล้มลงไม่ได้ ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง ถ้า ฟาวล์ 2 ครั้ง หมดสิทธิ์เล่น จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำประตูกันได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าแตะลูก ถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง
7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
8. ประตูที่ทำได้หรือนับว่าได้ประตูนั้น ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้เด็ดขาด
9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งลูกเข้ามาจากขอบสนามภายใน 5 วินาที ถ้าเกิน 5 วินาที ให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นฝ่ายใดพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาวล์
10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาวล์ และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งลูกเข้าเล่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลาบันทึกจำนวนประตูที่ทำได้ และทำหน้าที่ทั่วไปตามวิสัยของผู้ตัดสิน
12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งๆละ 20 นาที
13. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ในกรณีคะแนนเท่ากันให้ต่อเวลาออกไป และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ

แม้ ว่ากติกาการเล่นจะกำหนดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เล่น เพื่อความสนุกสนานในแง่นันทนาการ แต่กีฬานี้ก็ได้รับความนิยมจากเยาวชนอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากเห็นว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้อ่อนแอ และพยายามที่จะพิสูจน์ความเห็นนี้ด้วยการหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้เล่น บาสเกตบอลก็ตาม อย่างไรก็ดี ความรู้สึกเช่นนี้ค่อยๆเริ่มจางหายไปเมื่อความรวดเร็วและความแม่นยำในการ เล่นบาสเกตบอล ได้สร้างความประทับใจและดึงดูดความสนใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และได้แพร่กระจายไปทางตะวันออกของอเมริกาอย่างรวดเร็วและเมื่อโรงเรียนต่างๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกีฬาชนิดนี้ จึงพากันนิยมเล่นไปทั่วประเทศ

ก่อน ปี ค.ศ. 1915 แม้ว่าบาสเกตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมากก็ ตาม แต่ก็จำกัดเป็นเพียงการเล่นเพื่อออกกำลังกายในห้องพลศึกษาเท่านั้น ไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบจัดการเล่นเป็นกิจลักษณะ ยกเว้นองค์กรบาสเกตบอลอาชีพที่เกิดขึ้นเพียง 2-3 องค์กรแล้วก็เลิกล้มไป ฉะนั้นการเล่นบาสเกตบอลในแต่ละที่แต่ละแห่งจึงต่างก็ใช้กติกาผิดแผกแตกต่าง กันออกไป ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนากีฬาบาสเกตบอลเป็นอย่างมาก

ดัง นั้นในปี ค.ศ. 1915 สมาคม Y.M.C.A. สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติและสมาพันธ์กีฬาสมัครเล่น ได้ร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียว กัน กติกานี้ไดใช้สืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1938 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นผู้พิจารณา

สหรัฐ อเมริกายอมรับการเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1892 ซึ่งได้มีการเล่นบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก สมาคม Y.M.C.A. ได้นำกีฬาบาสเกตบอลไปเผยแพร่ในทุกส่วนของโลก ได้แพร่เข้าไปในประเทศจีนและอินเดียในราวปี ค.ศ. 1894, ฝรั่งเศส ในราวปี ค.ศ. 1895, ญี่ปุ่นราวปี ค.ศ. 1900 เกือบจะกล่าวได้ว่า บาสเกตบอลมีการเล่นในทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และคาดว่าก่อนปี ค.ศ. 1941 มีประชาชนทั่วโลกเล่นกีฬาบาสเกตบอลเป็นจำนวนถึง 20 ล้านคน ในขณะนี้มีผู้นิยมเล่นบาสเกตบอลกันทั่วทุกมุมโลก ไม่น้อยกว่า 52 ประเทศ นอกจากนี้ได้มีการแปลกติกาการเล่นเป็นภาษาต่างๆมากกว่า 30 ภาษา

ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย


กีฬา บาสเกตบอลแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยใด ปีใดนั้น มิได้มีหลักฐานที่จะปรากฏยืนยันแน่ชัดได้ ทราบแต่เพียงว่า ในปี พ.ศ.2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงธรรมการ ได้จัดการอบรมครูจังหวัดต่างๆจำนวน 100 คน ภายในระยะเวลา 1 เดือน และได้รับความช่วยเหลือจาก พ.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล ผู้ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญทางการเล่นกีฬาบาสเกตบอลคนหนึ่ง ทั้งได้>เคยเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขัน เมื่อครั้งท่านกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีเล่นบาสเกตบอลแก่บรรดาครูที่เข้ารับ การอบรม ต่อมาก็เป็นผลทำให้กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย

ใน ปี พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามแบบอันถูกต้อง โดยจดทะเบียนที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้กลายมาเป็นสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันนั้นเอง และในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมบาสเกตบอล ระหว่างประเทศ
แนะนำอุปกรณ์บาสเกตบอล


สนาม - ขนาด
สนาม ที่ใช้เล่นบาสเกตบอลจะต้องเป็น สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นเรียบแข็งปราศจากสิ่งกีดขวางใด ๆ ซึ่งสนามที่ใช้แข่งขันโอลิมปิกและชิงแชมเปี้ยนโลกจะต้องมีขนาด ยาว 28 เมตร และกว้าง 15 เมตร โดยวัดจากขอบในของเส้นเขตสนาม
สำหรับการแข่งขัน ระดับอื่นๆ ในองค์กรภายใต้การควบคุมของฟีบ้า (FIBA) เช่น คณะกรรมการบริหารของโซน (Zone) ในกรณีการแข่งขัน ระดับโซน และระดับทวีปหรือสมาคมกีฬาบาสเกตบอลของชาตินั้นๆ ในกรณีการแข่งขันภายในประเทศ จะมีอำนาจในการรับรองสนามแข่งขันซึ่งมีขนาดตามกำหนดดังต่อไปนี้คือ ความยาวลดลงกว่ามาตรฐานได้ไม่เกิน 4 เมตร และความกว้างลดลงกว่ามาตรฐานได้ไม่เกิน 2 เมตร ทั้งนี้อัตราส่วนของการลดขนาดของสนามต้องเป็นสัดส่วนต่อกัน
สนาม ที่จะสร้างขึ้นใหม่ต้องมีขนาดตามที่กำหนด เพื่อใช้แข่งขันระดับสำคัญๆ ของฟีบ้า คือ ขนาด 28 x 15 เมตร สำหรับเพดานนั้นให้มีความสูงอย่างน้อย 7 เมตร และพื้นสนามควรได้รับแสงสว่างเพียงพอและทั่วถึงกัน ทั้งนี้ควรติดตั้งโคมไฟโดยมิให้ปิดบังสายตาของผู้เล่นขนาดและพื้นของสนาม ต้องตรงกับเกณฑ์ที่ระบุไว้ เพื่อใช้แข่งขันระดับสำคัญๆ ของฟีบ้า

เส้นขอบสนาม
สนาม แข่งขันต้องมีเส้นขอบ สนามอย่างชัดเจน โดยทุกจุดต้องมีระยะห่างจากคนดู ป้ายโฆษณา หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ อย่างน้อย 2 เมตร เส้นขอบสนามทางด้านยาวมีชื่อเรียกว่า เส้นข้าง และเส้นขอบสนามทางด้านสั้นมีชื่อเรียกว่า เส้นหลัง เส้นต่างๆ ที่กล่าวในข้อนี้ และในข้ออื่นๆ จะต้องเห็นได้อย่างชัดเจน และมีขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร

วงกลมกลาง
วงกลมกลางต้องมีรัศมี 1.80 เมตร และอยู่ที่กลางสนาม ให้วัดรัศมีจากขอบนอกของเส้นรอบวง

เส้นกลาง แดนหน้า และแดนหลัง
เส้นกลางต้องลากให้ขนานกับเส้นหลังจากจุดกึ่งกลางของเส้นข้าง และต้องยื่นเลยเส้นข้างออกไปอีกข้างละ 15 เซนติเมตร
แดน หน้าของทีม คือส่วนของสนามระหว่างเส้นหลังที่อยู่ด้านหลังของห่วงประตูของคู่แข่งขันกับ ขอบด้านใกล้ของเส้น กลาง สำหรับส่วนที่เหลือของสนามรวมทั้งเส้นกลางคือ แดนหลังของทีม

เขตยิงประตูเพื่อทำ 3 คะแนน
เขต ยิง ประตูเพื่อทำ 3 คะแนน คือส่วนของพื้นสนามที่มีเส้นแสดงเป็นเส้นโค้ง 2 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะเป็นเส้นครึ่งวงกลม ขนาดรัศมี 6.25 เมตร โดยวัดจากขอบนอกของเส้นครึ่งวงกลม ทั้งนี้จะมีศูนย์กลางอยู่ที่จุดของเส้นดิ่งที่ลากผ่านจุดศูนย์กลางของ ห่วงประตูลงจดถึงพื้นสนาม และลากเส้นที่ต่อจากปลายเส้นครึ่งวงกลมให้ขนานกับเส้นข้างบรรจบกับเส้นหลัง ระยะห่างระหว่างจุด กึ่งกลางของเส้นหลังวัดจากขอบในไปยังจุดศูนย์กลางของครึ่งวงกลมคือ 1.575 เมตร

เขต 3 วินาที (เขตกำหนดเวลา) เขตโยนโทษ และเส้นโยนโทษ
เขต 3 วินาที คือพื้นที่ในสนามที่มีเขตตั้งแต่เส้นหลัง เส้นโยนโทษ และเส้นที่ลากจากเส้นโยนโทษไปบรรจบกับเส้นหลังจากจุดกึ่งกลางของเส้นหลังไป สิ้นสุดที่ขอบนอกของเส้นแนวยืนการโยนโทษ ระยะห่าง 3 เมตร
เขตโยนโทษ คือพื้นที่กำหนดที่ต่อจากเขต 3 วินาที เข้าไปในสนามโดยทำครึ่งวงกลมรัศมี 1.80 เมตร และมีจุดศูนย์กลางที่กึ่งกลางของเส้นโยนโทษ ให้ทำครึ่งวงกลมขนาดเดียวกัน แต่ตีเส้นปะเข้าไปในเขต 3 วินาทีด้วย
ช่องยืนตามแนวการโยนโทษ เป็นช่องที่ผู้เล่นยืนขณะมีการโยนโทษ ซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ
เส้น แรกของช่องที่จะต้องอยู่ห่างจากขอบในของเส้นหลัง 1.75 เมตร วัดตามแนวของเส้นแนวยืนโยนโทษ พื้นที่ของช่องแรกจะมีเส้นกำหนดห่างจากเส้นแรก 85 เซนติเมตร ส่วนช่องที่สองจะอยู่ถัดจากเขตปลอดผู้เล่น (Neutral Zone) ซึ่งมีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ส่วนช่องที่สองจะอยู่ถัดจากเขตปลอดผู้เล่น และมีขนาดกว้าง 85 เซนติเมตร ถัดจากเส้นกำหนดช่องที่สองจะเป็นช่องที่สามซึ่งมีขนาด 85 เซนติเมตรเช่นเดียวกัน เส้นที่แสดงช่องต่างๆ เหล่านี้มีความยาว 10 เซนติเมตร และกว้าง 5 เซนติเมตรตั้งฉากกับเส้นแนวยืนการโยนโทษ และให้ลากจากขอบนอกของพื้นที่เขตกำหนดเวลา
เส้นโยนโทษ จะต้องลากให้ขนานกับเส้นหลัง โดยมีขอบนอกห่างจากขอบในของเส้นหลัง 5.80 เมตร และยาว 3.60 เมตรจุดกึ่งกลางของเส้นโยนโทษต้องอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันกับจุดกึ่งกลาง ของเส้นหลังทั้งสองเส้น

พื้นที่นั่งของทีม พื้นที่นั่งของทีม กำหนด ณ พื้นที่นอกเขตสนามทางด้านเดียวกันกับโต๊ะเจ้าหน้าที่ พื้นที่กำหนดคือเส้นตรงยาว 2 เมตร ที่ลากต่อจากเส้นหลัง และเส้นตรงยาว 2 เมตร ลากจากจุดที่ห่างจากเส้นกลาง 5 เมตร ให้ตั้งฉากกับเส้นข้าง เส้นตรง 2 เมตรจะต้องมีสีแตกต่างจากสีของเส้นข้างและเส้นหลัง

กระดานหลัง (แป้น) ขนาด วัสดุ และตำแหน่งที่ติดตั้ง กระดานหลังจะต้องทำจากไม้เนื้อแข็งหนา 3 เซนติเมตร หรือเป็นวัสดุโปร่งใสที่เหมาะสม (แผ่นเดียวและมีความหนาแน่นเช่นเดียวกับไม้เนื้อแข็ง)
การแข่งขัน ระดับโอลิมปิกและชิงแชมเปี้ยนโลก กระดานหลังจะต้องมีขนาดความยาว 1.80 เมตร กว้าง 1.05 เมตรและขอบล่างสูงจากพื้นสนาม 2.90 เมตร
สำหรับการ แข่งขันระดับอื่นๆ ให้องค์กรภายใต้การควบคุมของฟีบ้า เช่น คณะกรรมการบริหารของโซนในกรณีการแข่งขันของโซนหรือทวีป หรือสมาคมกีฬาบาสเกตบอลของชาตินั้นๆ สำหรับการแข่งขันของโซนหรือทวีป หรือสมาคมกีฬาบาสเกตบอลของชาตินั้นๆ สำหรับการแข่งขันภายในประเทศ จะมีอำนาจในการรับรองขนาดของกระดานหลัง ซึ่งจะเป็นขนาดยาว 1.80 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ขอบล่างสูงจากพื้นสนาม 2.75 เมตร หรือขนาดยาว 1.80 เมตร กว้าง 1.05 เมตร และมีขอบล่างสูงจากพื้นสนาม 2.90 เมตรก็ได้
ส่วนกระดาน หลังที่ติดตั้งใหม่ทั้งหมด จะต้องมีขนาดเท่ากับที่ระบุไว้สำหรับการแข่งขันระดับโอลิมปิก และชิงแชมเปี้ยนโลก คือขนาด 1.80 x 1.05 เมตร พื้นด้านหน้าของกระดานหลังต้องเรียบและมีสีขาว ยกเว้นกระดานหลังที่เป็นแบบโปร่งใส ให้มีเครื่องหมายต่อไปนี้ที่พื้นด้านหน้าของกระดานหลังคือ ทำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังห่วง โดยมีเส้นขอบหนา 5 เซนติเมตร มีขนาดยาวตามแนวนอน 59 เซนติเมตร และกว้าง 45 เซนติเมตร ทั้งนี้ให้ขอบบนเส้นล่างของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ในระดับเดียวกันกับห่วง และขอบของกระดานหลังจะต้องตีกรอบด้วยเส้นหนา 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นแบบโปร่งใสให้ใช้สีขาวทำกรอบ นอกจากนั้นให้ใช้สีดำทำกรอบ ทั้งขอบของกระดานหลัง และสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในกระดานหลังจะต้องมีสีเดียวกัน
กระดาน หลังจะต้องติดตั้งอย่างมั่นคงที่ด้านเส้นหลังของสนามแต่ละข้าง และยื่นเข้าไปในสนามให้ตั้งฉากกับพื้นสนาม และขนานกับเส้นหลัง จุดศูนย์กลางของกระดานหลังห่างจากจุดกึ่งกลางของเส้นหลังวัดจากขอบใน 1.20 เมตร ส่วนเสาที่ยึดกระดานหลังจะต้องห่างจากขอบนอกของเส้นหลังอย่างน้อย 1 เมตร และทาสีสดใสตัดกับสีด้านหลัง เพื่อให้ผู้เล่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ขอบ ล่างของกระดานหลังให้บุขอบล่างของกระดานหลัง และขอบด้านข้างสูงขึ้นไปอย่างน้อย 35 เซนติเมตร พื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังของกระดานหลังจะต้องถูกบุอย่างน้อย 2 เซนติเมตรต่อจากขอบล่าง ทั้งนี้วัสดุที่ใช้บุจะต้องหนาไม่ต่ำกว่า 2 เซนติเมตร ส่วนขอบล่างของกระดานหลังจะต้องบุด้วยวัสดุที่หนาไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร อุปกรณ์ที่ใช้ยึดกระดานหลังซึ่งอยู่ด้านหลัง และสูงจากพื้นสนามไม่ถึง 2.75 เมตร จะต้องบุพื้นผิวของอุปกรณ์นั้นๆ เป็นระยะทาง 60 เซนติเมตร วัดจากด้านหน้าของกระดานหลังออกไป สำหรับกระดานหลังที่โยกย้ายเคลื่อนที่ได้ซึ่งมีฐานรองรับ จะต้องบุพื้นผิวด้านเขตสนามขึ้นสูง 2.15 เมตร

ห่วงประตู
ห่วง ต้องเป็นเหล็กตัน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวัดจากขอบในของห่วง 45 เซนติเมตร ทาด้วยสีส้ม เหล็กที่ทำห่วงต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 1.70 เซนติเมตร และขนาดใหญ่ที่สุด 2 เซนติเมตร โดยมีตะขอเล็ก ๆ เกี่ยวอยู่ข้างล่าง หรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเพื่อใช้ยึดเกี่ยวตาข่าย ห่วงต้องติดแน่นกับกระดานหลัง และอยู่ในแนวขนานกับพื้นสนาม สูงจากพื้นสนาม สูงจากพื้นสนาม 3.05 เมตร ทั้งนี้ต้องอยู่กึ่งกลางด้านตั้งของกระดานหลัง ขอบห่วงด้านที่ใกล้กับกระดานหลังจะห่างจากพื้นด้านหน้าของกระดานหลัง 15 เซนติเมตร
ตาข่ายต้องเป็นเส้นด้ายสีขาวผูกติดกับห่วง และมีลักษณะช่วยต้านลูกบอลเล็กน้อย เพื่อให้เป็นที่สังเกตขณะที่ลูกบอลผ่านลงไปในห่วงประตู ตาข่ายมีความยาว 40 เซนติเมตร
ห่วงที่ยุบตัวได้ (เพราะแรงอัดแบบไฮดรอลิก) จะต้องตรงกับเกณฑ์กำหนดต่อไปนี้
1. จะต้องมีลักษณะการคืนตัวเหมือนกับห่วงปกติที่ไม่ยุบตัว อุปกรณ์กลไกที่ทำให้เกิดการยุบตัวต้องแน่นอนที่จะควบคุมการคืนตัวดังกล่าว พร้อมกับช่วยป้องกันห่วงและกระดานหลัง การออกแบบห่วงและการสร้างห่วงควรจะประกันความปลอดภัยของผู้เล่นได้
2. ห่วงที่มีกลไกเฉพาะสำหรับล็อคกลไกของการยุบตัว จะต้องไม่ทำงานจนกว่าจะมีน้ำหนักถึง 105 กิโลกรัม ณ ปลายสุดด้านบนของห่วง
3. เมื่อยุบตัว การหย่อนของห่วงต้องไม่เกินกว่า 30 องศา จากตำแหน่งแนวระดับเดิม
4. หลังจากการยุบตัวและไม่มีน้ำหนักถ่วงอยู่ต่อไปแล้ว ห่วงจะต้องคืนตัวสู่ตำแหน่งเดิมโดยอัตโนมัติทันที

ลูกบอล วัสดุ ขนาด และน้ำหนัก

ลูก บอลต้องเป็นทรงกลม และมีสีส้มตามที่ได้รับรองแล้ว โดยมีเปลือกนอกทำด้วยหนัง ยาง หรือวัสดุสังเคราะห์ ทั้งนี้จะมีเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 74.9 เซนติเมตร และไม่เกิน 78 เซนติเมตร หนักไม่น้อยกว่า 567 กรัม และไม่เกิน 650 กรัม จะต้องสูบลมให้แข็งโดยประมาณว่าเมื่อปล่อยลูกบอลจากที่สูงประมาณ 1.80 เมตรลงสู่พื้นไม้แข็งหรือพื้นสนามแข่งขัน ลูกบอลจะกระดอนขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.20 เมตร หรือสูงไม่เกิน 1.40 เมตร เมื่อวัดจากส่วนบนของลูกบอล ตะเข็บและ / หรือร่องของรอยต่อลูกบอลจะต้องไม่เกิน 0.635 เซนติเมตร
ทีม เหย้าต้องจัดหาลูกบอลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างน้อย 1 ลูก สำหรับแข่งขัน ทั้งนี้ผู้ตัดสินที่หนึ่งมีอำนาจเพียงผู้เดียว ที่จะตัดสินว่าลูกบอลใดเข้าเกณฑ์ของกติกา และอาจเลือกเอาลูกบอลที่ทีมเยือนจัดหามาใช้แข่งขันก็ได้

อุปกรณ์ทางเทคนิค

อุปกรณ์ทางเทคนิคต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของทีมเหย้าจะต้องจัดเตรียมไว้ และมีพร้อมไว้ให้ผู้ตัดสินและผู้ช่วงผู้ตัดสิน คือ
1. นาฬิกาจับเวลาการแข่งขัน และนาฬิกาจับเวลานอก ผู้จับเวลาต้องมีนาฬิกาจับเวลาการแข่งขัน และนาฬิกาจับเวลาธรรมดา เพราะนาฬิกาจับเวลาการแข่งขันมีไว้สำหรับจับเวลานอก นาฬิกาทั้งสองเรือนนี้จะต้องจัดตั้งไว้ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนโดยผู้จับ เวลาและผู้บันทึก
2. นาฬิกาจับเวลา 30 วินาที เป็นอุปกรณ์จำเป็นที่จะต้องติดตั้งให้สามารถมองเห็นได้ทั้งผู้เล่นและผู้ชม และดำเนินการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่จับเวลา 30 วินาที
3. ใบบันทึก จะต้องเป็นแบบที่กำหนดโดยสหพันธ์บาสเกตบอลสมัครเล่นนานาชาติ และต้องให้ผู้บันทึกเป็นผู้ดำเนินการกรอกข้อความก่อนการแข่งขัน และระหว่างที่การแข่งขันตามที่ระบุไว้ในกติกา
4. อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์เพื่อแสดงสัญญาณ 3 ชนิด ที่ระบุไว้ในกติกา นอกจากนั้นยังจะต้องมีป้ายบอกคะแนนที่สามารถมองเห็นโดยผู้เล่น ผู้ชมและเจ้าหน้าที่โต๊ะ
5. ป้ายแจ้งหมายเลขตั้งแต่ 1 ถึง 5 ต้องจัดให้ผู้บันทึกทุกครั้งที่ผู้เล่นกระทำฟาวล์ ผู้บันทึกต้องยกป้ายนี้แสดงจำนวนฟาวล์ของผู้เล่นคนนั้นให้สามารถมองเห็นได้ โดยโค้ชทั้งสองทีม ป้ายนี้ให้มีพื้นสีขาว และเขียนหมายเลข 1 ถึง 4 ด้วยสีดำ ส่วนหมายเลข 5 เขียนด้วยสีแดง โดยมีขนาดของป้ายอย่างน้อย 20 x 10 เซนติเมตร
6. ต้องจัดเครื่องหมายแสดงจำนวนการฟาวล์ของทีมให้แก่ผู้บันทึก ซึ่งเครื่องหมายนี้จะเป็นสีแดง จัดตั้งไว้บนโต๊ะเจ้าหน้าที่เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายโดยผู้เล่น โค้ช และผู้ตัดสิน ทันทีที่ลูกบอลเข้าสู่การเล่นภายหลังการฟาวล์ของผู้เล่นครั้งที่ 7 ของทีมนั้นๆ ให้แสดงเครื่องหมายนี้บนโต๊ะเจ้าหน้าที่ทางด้านที่นั่งของทีมที่กระทำฟาวล์ ของผู้เล่นครั้งที่ 7
7. เครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อแสดงจำนวนฟาวล์ของทีม สถานที่ และอุปกรณ์ที่ระบุไว้เพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไปนี้จะ ต้องได้รับการอนุมัติจากฟีบ้า คือ โอลิมปิก ชิงแชมเปี้ยนโลก สำหรับประเภทชาย ประเภทหญิง เยาวชนชาย เยาวชนหญิง และสำหรับประเภทชายอายุไม่เกิน 22 ปี

1. ที่นั่งสำหรับผู้ชมในสนามแข่งขัน จะต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่า 6,000 ที่นั่ง สำหรับระดับชิงแชมเปี้ยนโลก เยาวชนชาย เยาวชนหญิง และสำหรับประเภทชายอายุไม่เกิน 22 ปี และต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่า 12,500 ที่นั่งสำหรับระดับโอลิมปิก และชิงแชมเปี้ยนโลก สำหรับประเภทชายและหญิง

2. พื้นสนามที่ใช้แข่งขันต้องทำด้วยไม้หรือวัสดุอื่นซึ่งมีคุณลักษณะเหมือนไม้ และได้รับความเห็นชอบโดย ฟีบ้า สนามแข่งขันต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าราบเรียบ มีพื้นแข็ง ขนาดยาว 28 เมตร และกว้าง 15 เมตร เมื่อสนามแข่งขันออกแบบโดยไม่ตีเส้นขอบสนาม ซึ่งมีความหนา 5 เซนติเมตรไว้ แต่ใช้สีซึ่งตัดกันเป็นสิ่งกำหนดพื้นที่ของเขตสนาม และพื้นที่นอกเขตสนามแล้ว ให้ถือว่าเส้นที่แบ่งสีที่ตัดกันนั้นเป็นขอบในของเส้นสนาม

3. จะต้องมีกระดานหลังเป็นวัสดุโปร่งใส ทำด้วยวัสดุที่มีความหนาแน่นเหมือนไม้ที่มีความหนา 3 เซนติเมตร มีขนาดยาวตามแนวนอน 1.80 เมตร และกว้างตามแนวตั้ง 1.05 เมตร ทั้งนี้ขอบล่างของกระดานหลังจะต้องสูงจากพื้นสนาม 2.90 เมตร

4. อุปกรณ์ที่ใช้ยึดกระดานหลัง จะต้องตั้งอยู่นอกเขตสนามห่างจากขอบนอกของเส้นหลังอย่างน้อย 2 เมตรและต้องมีสีสดใสตัดกับสีด้านหลัง เพื่อให้ผู้เล่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน

5. ลูกบอลต้องทำด้วยหนังและได้รับอนุมัติจากฟีบ้า ฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องจัดหาลูกบอลอย่างน้อย 12 ลูก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน เพื่อการใช้ฝึกซ้อม และอบอุ่นร่างกายก่อนเริ่มการแข่งขัน แสงสว่างที่ใช้กับสนามแข่งขันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1,500 ลักซ์ (Lux) ซึ่งวัดความสว่างระดับความสูง 1 เมตร เหนือพื้นสนาม แสงสว่างดังกล่าวต้องตรงกับเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย

6. สนามแข่งขันจะต้องติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้ ซึ่งจะต้องให้เห็นเด่นชัดจากโต๊ะเจ้าหน้าที่ สนามแข่งขัน และที่นั่งของทีม คือ


6.1 ป้ายแสดงคะแนนขนาดใหญ่สองป้าย แต่ละป้ายติดนาฬิกาชนิดตัวเลขที่นับถอยหลังซึ่งมองเห็นได้เด่นชัด พร้อมกับมีอุปกรณ์ที่ให้สัญญาณเสียงอัตโนมัติที่ดังมากๆ เพื่อบอกการสิ้นสุดเวลาการแข่งขันในแต่ละครึ่งเวลา และเวลาเพิ่มพิเศษ นาฬิกาจะต้องออกแบบอย่างสมบูรณ์และแสดงเวลาที่เหลือตลอดการแข่งขัน และอย่างน้อยที่สุดในช่วง 60 วินาที นาทีสุดท้ายของแต่ละครึ่ง และเวลาเพิ่มพิเศษ จะต้องแสดงเวลาทุก 1/10 วินาที ผู้ตัดสินที่หนึ่งจะเป็นผู้กำหนดให้นาฬิกาเรือนหนึ่งเป็นนาฬิกาจับเวลาของ การแข่งขัน ป้ายแสดงคะแนนจะต้องบอกคะแนนที่แต่ละทีมทำได้ พร้อมกับบอกจำนวนฟาวล์ของผู้เล่นในแต่ละทีม ขบวนการดังกล่าวมิได้หมายความว่าให้ติดป้ายแสดงการฟาวล์ที่เจ้าหน้าที่ บันทึกใช้แจ้งจำนวนฟาวล์


6.2 อุปกรณ์อัตโนมัติที่ใช้จับเวลา 30 วินาที ชนิดตัวเลขนับถอยหลังแสดงเวลาเป็นวินาที จะต้องมีอุปกรณ์ดังกล่าว 2 ชุด ถ้าติดตั้งตรงแนวส่วนบนของกระดานหลัง หรือมี 4 ชุด ถ้าติดตั้งด้วยความเหมาะสมตามมุมของสนามแข่งขัน อุปกรณ์ 30 วินาทีจะต้องพ่วงเข้ากับนาฬิกาที่จับเวลาการแข่งขัน ทั้งนี้เมื่อเวลาหมดลงเป็น " ศูนย์ " จะมีสัญญาณดังขึ้น ก็จะทำให้หยุดเวลาการแข่งขันโดยอัตโนมัติด้วย


6.3 อุปกรณ์ที่มีแสงสว่างเพื่อบอกจำนวนฟาวล์ของแต่ละทีม ซึ่งควรมีตัวเลขจาก 1 ถึง 7


6.4 สัญญาณเสียงที่แยกกัน 3 ชุด และมีเสียงแตกต่างกันจะต้องจัดให้มีคือ ชุดหนึ่งเพื่อให้แก่เจ้าหน้าที่จับเวลา ซึ่งจะต้องส่งสัญญาณเสียงโดยอัตโนมัติเมื่อสิ้นสุดเวลาการแข่งขันในแต่ละ ครั้ง หรือแต่ละครั้งเพื่อบอกการสิ้นสุดเวลาการแข่งขัน อีกชุดหนึ่งเพื่อให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จับเวลา 30 วินาที อุปกรณ์ทั้ง 3 ชุดนี้จะต้องมีสัญญาณเสียงดังมากพอที่จะได้ยินอย่างชัดเจนภายใต้สถานการณ์ วุ่นวาย หรือเสียงรบกวนอื่นๆ

7. เขต 3 วินาที (เขตกำหนดเวลา) และวงกลมกลางจะต้องเป็นสีที่แตกต่างจากสีของพื้นสนามแข่งขันมาตรฐานที่กำหนด ไว้ข้างต้น ควรจะนำไปใช้ในการแข่งขันระดับสำคัญอื่นๆ ด้วย

กติกาบาสเกตบอล


บาสเกตบอล เป็นกีฬาที่เล่นระหว่างผู้เล่น 2 ชุด ชุดละ 5 คน โดยมีจุดมุ่งหมายว่า แต่ละชุดต้องนำลูกบอลไปโยนให้ลงห่วงประตูของคู่แข่งขัน และพยายามป้องกันมิให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ครอบครองลูกบอล หรือทำคะแนน ทั้งนี้ผู้เล่นอาจจะส่ง โยน ปัดกลิ้ง หรือเลี้ยงลูกบอลไปยังทิศทางใดก็ได้ให้ถูกต้องตามกติกา

ทีม

แต่ ละทีมจะประกอบไปด้วยผู้เล่นไม่เกิน 10 คน และโค้ช 1 คน ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งจะเป็นหัวหน้าทีม แต่ละทีมอาจจะมีผู้ช่วยโค้ชอีก 1 คน สำหรับทัวร์นาเมนต์ที่ทีมนั้นจะต้องแข่งขันมากกว่า 3 ครั้ง จำนวนผู้เล่นในแต่ละทีมอาจจะเพิ่มเป็น 12 คนก็ได้ ผู้เล่น 5 คนของแต่ละทีมจะต้องอยู่ในสนามแข่งขันระหว่างเวลาการแข่งขัน และสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ตามที่ระบุไว้ในกติกา
ผู้เล่นของ ทีมคือผู้เล่นที่อยู่ในสนามแข่งขัน และถูกกำหนดว่าจะลงแข่งขันนอกเหนือจากนี้แล้วจะเป็นผู้เล่นสำรอง ดังนั้นผู้เล่นสำรองจะกลายเป็นผู้เล่นเมื่อผู้ตัดสินได้ให้สัญญาณแจ้งให้เขา เข้าไปในสนามแข่งขัน และผู้เล่นจะกลายเป็นผู้เล่นสำรองทันทีที่ผู้ตัดสินได้ส่งสัญญาณแก่ผู้ที่จะ เข้ามาแทนผู้เล่นคนนั้นให้เข้าไปในสนามแข่งขัน ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องมีหมายเลขที่ด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อที่ตนสวมใส่ โดยมีลักษณะเรียบธรรมดา (ไม่มีลวดลาย) และมีสีทึบติดกับเสื้อ หมายเลขจะต้องเด่นชัด สำหรับหมายเลขที่ติดด้านหลังจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร และหมายเลขที่ติดด้านหน้าจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ทำด้วยวัสดุที่กว้างไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร ทีมหนึ่ง ๆ จะต้องใช้หมายเลขตั้งแต่ 4 ถึง 15 ผู้เล่นในทีมเดียวกันจะต้องไม่ใช้หมายเลขซ้ำกัน

ชุดที่ผู้เล่นสวมใส่จะต้องประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้
- เสื้อทีม จะเป็นสีเดียว มีลักษณะทึบสม่ำเสมอเหมือนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ต้องสวมใส่โดยผู้เล่นทุกคนในทีมนั้นเสื้อที่มีลายทางแบบริ้วลายจะไม่อนุญาต ให้ใช้

- กางเกงขาสั้น จะเป็นสีเดียว มีลักษณะทึบสม่ำเสมอเหมือนกันทั้งทีม และจะต้องสวมใส่โดยผู้เล่นทุกคนในทีมนั้น

- เสื้อคอกลม (ทีเชิ้ต) อาจจะสวมใส่ได้ภายในเสื้อทีม แต่ถ้าสวมเสื้อคอกลมจะต้องใช้เสื้อคอกลมมีสีเดียว และให้เหมือนกับสีของเสื้อทีม

- ชุดชั้นในของกางเกง ที่ยื่นเลยต่ำกว่ากางเกงขาสั้น อาจจะสวมใส่ได้โดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีสีเดียว และเหมือนกับกางเกงขาสั้น

ใน กรณีที่เสื้อทีมมีสีตรงกันให้ทีมเหย้าเปลี่ยนสีเสื้อทีมเมื่อ แข่งขันที่สนามกลาง หรือในทัวร์นาเมนต์ทีมที่มีชื่อแรกในโปรแกรมการแข่งขัน และต้องเป็นชื่อแรกในใบบันทึกจะต้องเปลี่ยนสีเสื้อทีม เพราะในทัวร์นาเมนต์หนึ่งๆ แต่ละทีมจะต้องมีเสื้อทีมอย่างน้อย 2 ชุด คือชุดที่เป็นสีจาง และชุดที่เป็นสีเข้ม

สำหรับการแข่ง ขันที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ให้ทีมที่มีชื่อแรกในโปรแกรมการแข่งขัน (ทีมเหย้า) สวมเสื้อสีจาง และทีมที่มีชื่อที่สอง (ทีมเยือน) สวมเสื้อสีเข้ม

สำหรับการแข่งขันระดับสำคัญๆ ของฟีบ้า ผู้เล่นในทีมเดียวกันจะต้องปฏิบัติดังนี้
1. สวมรองเท้าซึ่งมีสีเหมือนกัน
2. สวมถุงเท้าซึ่งมีสีเหมือนกัน

ผู้เล่นออกจากเขตสนามแข่งขัน
จะไม่อนุญาตให้ผู้เล่นออกจากเขตสนาม เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม

หัวหน้าทีม หน้าที่ และอำนาจ
เมื่อ มี เหตุจำเป็น หัวหน้าทีมจะต้องเป็นผู้แทนของทีมในสนามแข่งขันสามารถพูดกับผู้ตัดสินเพื่อ ขอคำอธิบาย หรือเพื่อขอทราบข้อมูลที่จำเป็น แต่ต้องกระทำด้วยความสุภาพ